จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

วันเสาร์ที่ 5 มีนาคม พ.ศ. 2554

ประโยคช์ของหนังสือ

วันก่อนได้อ่านเรียงความของเด็กระดับประถมถึงมัธยมต้น เรื่องประโยชน์ของการอ่านหนังสือ แรกทีเดียวก็คิดว่า จะกรองเอาประเด็นที่เขาเขียนมาลง blog พออ่านไปอ่านมา รู้สึกว่าจับประเด็นไม่ค่อยได้ อาจจะเพราะเด็กไม่ค่อยได้มีโอกาสอ่านหนังสือหลากหลาย และยังถ่ายทอดได้ไม่ชัดเจนว่าประโยชน์ของการอ่านหนังสือมีอะไรบ้าง ผมจึงขอเขียนถึงประโยชน์ของการอ่านหนังสือกะเขามั่งแล้วกัน เพราะผมมั่นใจว่า ปริมาณหนังสือที่ผมอ่านไม่น้อย แต่ละวันผมอ่านหนังสือหลายบรรทัดอยู่นะครับ :-0

1. เพื่อการเรียนรู้ ศึกษาด้วยตัวเอง ถ้าใครบอกว่า เฮ่ย ความรู้ไม่ได้อยู่ในตำรา! มันอยู่นอกตำราถมไป ก็ใช่ครับ แต่เท่าที่ผมอ่านจากประวัติของผู้ที่ประสบความสำเร็จในชีวิต โดยส่วนใหญ่ มีธาตุแท้ของการพยายามศึกษาค้นคว้าด้วยตนเองด้วย แต่ผมไม่ปฏิเสธความรู้นอกตำรา เพราะมันมีจริงเช่นกันครับ

2. เพื่อช่วยการเพิ่มพูนความรู้ อันนี้เห็นได้ชัดๆ คนที่มาทำงาน บางทีทำงานไม่ตรงกับสายอาชีพที่ตัวเองเรียนจบมา ถึงแม้ว่าตรงก็ยังต้องอัพเดทตัวเองให้ทันสมัย ผมว่าแทบจะถูกสาขาอาชีพเลยล่ะ ถึงจะไม่เพิ่มพูนความรู้ ก็เพิ่มพูนมุมมอง ทำให้เป็นคนใจกว้างขึ้น เช่น คนทำการเกษตร พออ่านนิตยสารการเกษตรก็จะต้องเปรียบเทียบกับสิ่งที่ตัวเองทำอยู่ แล้วก็อาจจะพบว่า เอ๊ะ มีแบบนั้นด้วยเหรอ? เอาว่ะ เขาทำแบบนั้นกัน ประหยัดต้นทุน เพิ่มผลผลิต

3. เปลี่ยนทัศนคติและมุมมอง บ้างก็ว่า You are what you read, Margaret Fuller กล่าวคำคมว่า Today a reader, tomorrow a leader (ร้านหนังสือบางแห่งติดแบนเนอร์คำนี้เพื่อจูงใจให้คนอ่านหนังสือ เหมือนวิทยาลัยบางแห่ง ขึ้นคัตเอาท์ ประโยคเด็ดของไอน์สไตน์ Imagination is more important than knowledge) เชื่อมั้ยครับ สำหรับบางคน เปลี่ยนจากหน้ามือเป็นหลังมือเลย เช่น พอได้อ่าน ชีวจิต แล้วชีวิตก็เปลี่ยนไป หรือบางคนอ่านเรื่องดีๆ จาก รีดเดอร์ ไตเจทส์ แล้วก็เกิดมุมมองใหม่ๆ คำถามคือ หนังสืออะไรที่มีอิทธิพลต่อคุณบ้างครับ?

4. เพื่อความบันเทิง หนีไปจากโลกปัจจุบัน (escapism) มันมีกันอยู่ทุกคนละครับ อาการเบื่อโลก หรือความต้องการในหาความบันเทิงนี่ ผมชอบอ่านนิยายครับ สมัยก่อน อ่านนิยายจีนกำลังภายใน ตอนหลังอ่านนิยายแปล กระทั่งอ่านการ์ตูนญี่ปุ่น แต่อย่าได้ดูถูกนิยายต่างๆเหล่านี้นะครับ เพราะจริงๆแล้วในความบันเทิง ก็มีสาระซ่อนอยู่ หรือบางทีแฝงวิชาการ ความรู้ไว้ด้วย ได้ทั้งความบันเทิง ได้ทั้งมุมมอง อ่านแล้วสนุก หลายๆเรื่องมีโครงสร้างเรื่องของอารมณ์ จิตสำนึก หรือซ่อนความเลวร้าย กิเลสของคน หลายๆ เรื่องอ้างอิงถึงงานวิชาการระดับสูงๆ ด้วย
5. เพื่อค้นหาคามเป็นตัวของตัวเอง ศึกษาธรรมะ เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีกว่า และดำรงชีวิตอยู่ในโลกที่กระแสทุนนิยมไหลเชี่ยวกราก สังคมฟอนเฟะ คนรอบข้างไม่ได้ดั่งใจ กระทั่งบางทีก็รู้สึกว่า ทำไม ใครต่อใครรอบตัวเรา ในชีวิตคนทำงานนี่มันช่างเห็นแก่ตัวกันนัก (อ้าวๆๆ มองโลกในแง่ร้ายซะงั้น) หรือสงสัยว่า ไอ้ที่เราๆทำอยู่ทุกวันนี้ มันใช่ความสุขที่แท้ ตัวตนที่จริงของเราหรือไม่ ถ้าเป็นเช่นนี้ ลองหาหนังสือธรรมะมาอ่านครับ จะได้มีโอกาสได้รู้จักตัวเอง หรือทบทวนตัวเองไปด้วย

6. เพื่อให้ทันโลก (อันนี้ผม copy เรียงความของเด็กๆมา) แต่เด็กๆ มักจะบอกว่า ต้องอ่านหนังสือพิมพ์ หรือฟังข่าวถึงจะทันโลก --- โอเค สำหรับการเริ่มต้นที่จะโต ก็คงต้องแบบนั้นก่อน อ่านข่าว หัวเขียว หัวม่วง ไม่ว่ากัน แต่ก็น่าจะมีใครสักคนคอยสอนเด็กเหล่านั้น ให้มีวิจารณญาณในการเลือกเสพย์ข่าวด้วย เพราะข่าวพวกนั้นไม่ใช่ข่าวคุณภาพ การทันข่าวแบบนั้น ไม่มีประโยชน์อะไรกับชีวิต ถามจริงๆ ข่าวฆ่ากันตายรายวัน ผัวเมียตบตีกัน มันช่วยให้ทันโลกตรงไหนหว่า?? ผมว่าข่าวพวกนี้ เป็น บันเทิงรายวันมากกว่า บันเทิงบนความเจ็บปวด บนความสูญเสียของคนอื่น แต่ถ้าหากจะทันโลกจริงๆ ก็ต้องศึกษาโลกด้วยความสุขุม ด้วยความเข้าใจจริงๆ สุดท้าย อะไรเกิดขึ้น ก็บอกว่า มันเป็นเช่นนั้นเอง เพราะเช่นนี้ จึงเป็นเช่นนั้น – ตถตา อ้าว กลายเป็นศาสนาไปเสียแล้ว การจะศึกษาให้ทันโลกนี้ มันต้องศึกษาทั้งโลกีย์ และโลกุตระ จริงๆนะครับ ทางหนึ่งศึกษาความเป็นไปของชีวิต อีกทางหนึ่ง ศึกษาธรรม สองอย่างนี้ แต่อ่านหนังสืออาจจะไม่พอ แต่ต้องอ่าน

ทำไมหนังสือถึงอยู่คู่โลกนี้ไปยืนยาว และยังไม่มีทีท่าว่าจะหายไป สำหรับธุรกิจ หนังสือเป็นสินค้าที่สามารถผลิตได้ ต้นทุนไม่แพง ใครๆก็พิมพ์หนังสือได้ ดังนั้น หนังสือหลายสิบประเภทจึงมีให้เลือกอ่าน สำหรับนักอ่าน เพราะหนังสือเป็นการลงทุนที่ไม่แพงเลย แถมพกพาไปไหนมาไหนก็ได้ (ถ้าไม่คิดว่า มันจะยับ) เล่มขนาดพ็อคเก็ตบุ้ค ยิ่งสบายใหญ่

ก่อนจะไล่ออกทะเลไปไกลกว่านี้ ลองหยิบหนังสือมา สักเล่มครับ แล้วค่อยถามตัวเองว่า อ่านเล่มนี้แล้วได้ประโยชน์อะไร

ตอนนี้ผมกำลังอ่าน
1. เซียนบะหมี่สีรุ้ง การ์ตูนญี่ปุ่น เริ่มแรกก็เป็นการอ่านเพื่อบันเทิงครับ แต่อ่านๆไป เหมือนวิชา การจัดการเชิงกลยุทธ์ (strategic management + marketing management) เลย
2. สิทธารถะ ของ เฮอร์มานน์ เฮสเส ฉบับ แปลโดย สดใส เพิ่งได้หนังสือมา ยังอ่านไม่จบ เป็นหนังสือที่ You must เขาว่าอย่างนั้น ก็กะว่าจะอ่านเพื่อเรียนรู้ตัวเอง
3. xxxx ,xxxxxx หนังสือ 2-3 เล่ม ไม่ใช่ x นะครับ :-( เป็นหนังสือเกี่ยวกับงานที่ผมต้องทำ ถ้าไม่อ่านก็ไม่รู้จะถามใคร การค้นหาจากเน็ต ถาม google ก็ถือเป็นการอ่าน ใช่มั้ยครับ??

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น